กำหนดการสำคัญ
   ประกาศรับบทคัดย่อ
    15 พฤศจิกายน 2557
   กำหนดปิดรับบทคัดย่อ
  
 วันที่ 30 มกราคม 2558
   ประกาศผลตอบรับบทคัดย่อ
    วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2558
   ส่งบทความฉบับสมบูรณ์
    ภายในวันที่ 16 เมษายน 2558
   ประกาศผลการพิจารณาบทความ
    วันที่ 15 พฤษภาคม 2558
 
 

หลักการและเหตุผล

          ในทางมนุษยศาสตร์ภาษาไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือในการสื่อสารของมนุษย์เท่านั้น แต่มีพลังในการกำกับความคิด ค่านิยม ความถูกต้อง ความรู้ ความจริง สำหรับสมาชิกในวัฒนธรรมหนึ่งๆ ปฏิบัติการทางอำนาจเกิดขึ้นในกระบวนการนำเสนอ การสร้างภาพตัวแทน การให้ความหมายและคุณค่ากับสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคน สิ่งของ ความคิด อุดมการณ์ หรือพฤติกรรมต่างๆ ภาษาและการสื่อสารจึงมีพลังในการกดทับและครอบงำ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางของการต่อสู้ขัดขืนและการต่อรองรวมทั้งการระบายความตึงเครียดภายใต้สังคมอำนาจนิยมด้วย

          สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จึงมีกำหนดจัด การประชุมวิชาการระดับชาติ ภาษาและวัฒนธรรม 2558 เรื่อง "อำนาจไร้พรมแดน: ภาษา วัฒนธรรม การสื่อสารและอำนาจในชีวิตประจำวัน" ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจอำนาจในเชิงวัฒนธรรมที่มีปฏิบัติการในชีวิตประจำวัน ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ โดยให้ความสำคัญกับคนธรรมดาในฐานะผู้กระทำทางสังคมและผู้มีส่วนร่วมในปฏิบัติการทางอำนาจความเข้าใจต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ตลอดจนความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมเป็นส่วนสำคัญของการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมในสังคมปัจจุบัน

          การประชุมวิชาการครั้งนี้เปิดรับบทความครอบคลุมประเด็นการอภิปรายเกี่ยวกับปฏิบัติการทางอำนาจและการต่อต้าน ต่อรองในระดับต่างๆ ผ่านการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่หลากหลายในยุคของการติดต่อสื่อสารภายใต้โลกไร้พรมแดน เช่น การเมืองเรื่องภาพแสดงแทน (ในวรรณกรรม ภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะ ฯลฯ) การเมืองเรื่องพื้นที่ ร่างกายกับอำนาจ อารมณ์ขันกับการต่อต้านขัดขืน และบทบาทของสื่อสังคมออนไลน์ในฐานะพื้นที่ของการแสดงออก

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อนำเสนอข้อถกเถียงเชิงวิชาการของปฏิบัติการทางอำนาจในชีวิตประจำวันผ่านภาษา การสื่อสาร และวัฒนธรรม อันจะนำไปสู่ความเข้าใจและแนวทางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง
  2. เพื่อสร้างเครือข่ายนักวิชาการด้านภาษา วัฒนธรรม และการสื่อสาร ระหว่างสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ
  3. เพื่อเป็นพื้นที่ในการเผยแพร่ผลงานวิชาการและวิจัย สำหรับนิสิต/นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาและผู้สนใจทั่วไป

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. นักวิชาการและสังคมไทยขยายความเข้าใจเรื่องอำนาจของภาษา วัฒนธรรมและการสื่อสารในสังคมร่วมสมัย
  2. มีการเผยแพร่บทความที่มีคุณภาพจากการประชุมวิชาการนี้ผ่านทางวารสารวิชาการของสถานศึกษาที่เป็นเจ้าภาพร่วม นอกจากนี้บทความบางส่วนยังได้รับคัดเลือกเผยแพร่ทางหนังสือรวมบทความที่มีคุณภาพจากการประชุมวิชาการนี้ด้วย
  3. เพิ่มความเข้มแข็งของเครือข่ายทางวิชาการ แหล่งค้นคว้า และแหล่งอ้างอิงในระดับชาติ สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน คณาจารย์ นักวิชาการ/นักวิจัย ผู้ประกอบวิชาชีพ ตลอดจนนิสิต/นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป

กลุ่มเป้าหมาย

     จำนวน 300 คน ประกอบด้วย

  1. นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ และนักวิชาการอิสระ
  2. บุคลากรในองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  3. นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไป
 
Copyright © 2015 RILCA Conference 2015. All rights reserved.